รวมปาฐกถาภาษาไทย

ปาฐกถานำ
เรื่อง
ปัญหาความร่ำรวยผิดปกติในสังคมไทย
โดย
ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน
วันจันทร์ที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
โรงแรมอโนมา

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาปาฐกถานำ เรื่อง “ปัญหาความร่ำรวยผิดปกติในสังคมไทย” ท่ามกลางความสนใจอย่างยิ่งของท่านผู้มีเกียรติ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการป้องปรามการทุจริตอันเป็นที่มาของของความร่ำรวยผิดปกติในวันนี้

ความจริง เมื่อพูดถึงหัวข้อสัมมนา คำถามแรกที่เกิดขึ้นในใจผมก็คือ สังคมไทยเคยเห็นความร่ำรวยมหาศาลของนักการเมืองและข้าราชการเป็นปัญหาหรือไม่? หรือ ผู้จัดเวทีสัมมนาสาธารณะนี้เท่านั้นที่เห็นว่าเป็น “ปัญหา” และเป็น “ความผิดปกติ”?

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนจำนวนมากยังถือคติอันเป็นคำพังเพยไทยที่ว่า “มีเงินเขาก็นับว่าเป็นน้อง มีทองเขาก็นับว่าเป็นพี่”

ค่านิยมที่เห็นว่าเงินคือพระเจ้า ความร่ำรวยเป็นความดีงาม ที่สังคมยอมรับนับหน้าถือตานี่เองเป็นรากเหง้าสำคัญที่ทำให้คนที่มีโอกาสก็ต้องแสวงหาโอกาสให้ร่ำรวยขึ้นมาให้ได้ด้วยวิธีการทุกวิธี มิไยว่าวิธีการนั้นจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

ท่านผู้มีเกียรติครับ

นอกจากการเห็นความร่ำรวยเป็นความดีในตัวเอง โดยไม่ได้ตั้งคำถามถึงที่มาของความร่ำรวยแล้ว คนจำนวนมากยังเชื่อผิด ๆ ว่าการคอรัปชั่นบ้าง แต่ในขณะเดียวกันทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดี ดีกว่าการไม่คอรัปชั่น และโครงการต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก ดังที่มีผู้พูดให้เข้าหูอยู่เสมอว่า “กินบ้าง ไม่เป็นไร ถ้ามีผลงาน”

ทัศนคติผิด ๆ เช่นนี้ถูกถ่ายทอดไปยังนักธุรกิจจำนวนมากและประชาชนทั่วไป ดังจะเห็นได้จากผลการศึกษาของ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคณะที่พบว่า “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ที่ประชาชนให้เจ้าหน้าที่ของรับเป็น “สินน้ำใจ” ตอบแทนที่ให้บริการจดทะเบียนต่าง ๆ ไม่ถือเป็นการทุจริต ค่านิยมนี้เองทำให้เจ้าหน้าที่ระดับซี ๓ ซี ๔ ของกรมกรมหนึ่งแถวปากคลองตลาด มีเงินเก็บในลิ้นชักโต๊ะแต่ละคนเป็นเรือนแสน แต่เมื่อกรมดังกล่าวถูกขโมยขึ้นไปงัดแล้วกวาดเงินไป ก็ไม่มีข้าราชการคนใดกล้าแจ้งความว่าเงินในลิ้นชักตนหายไปกี่แสน ซึ่งแสดงว่า เจ้าหน้าที่รู้ดีว่า สิ่งที่เขาทำอยู่นั้นไม่ใช่สิ่งถูกต้อง

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

ผมคงต้องย้ำอีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้ว่า การทุจริตอันเป็นที่มาของความร่ำรวยผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตแบบให้และรับค่าน้ำร้อนน้ำชา ซึ่งเป็นทุจริตระดับรากหญ้า หรือการทุจริตในโครงการใหญ่หลายล้านบาท มีผลเสียและทำลายสังคมทั้งสิ้น เพราะ

ประการแรก การตัดสินใจใช้อำนาจรัฐที่กฎหมายให้ไว้ ควรต้องตัดสินใจโดยดูข้อดีข้อเสียให้ถ่องแท้ แต่เมื่อเงินเข้ามามีบทบาท ย่อมทำให้การตัดสินใจผิดเพี้ยนไปจากที่ควรเป็น เพราะการอนุมัติ อนุญาต และให้สัมปทาน หรือสิทธินั้น ๆ ถูกอิทธิพลเงินสินบนเข้าครอบ ลองหลับตานึกภาพดูว่า ถ้ากรมป่าไม้ให้สัมปทานทำไม้ในป่าซึ่งควรต้องรักษาไว้เป็นต้นน้ำ การทุจริตนั้นก็สามารถทำลายป่าให้หมดไปได้จากประเทศไทย

ประการที่สอง การทุจริตและความร่ำรวยผิดปกติของผู้มีอำนาจ ย่อมส่งผลร้ายต่อประชาชนตาดำ ๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่ผู้ให้และผู้รับสินบนอาจไม่ได้รับผลร้ายโดยตรง เช่น การทุจริตในการก่อสร้างสะพาน ถนน หรืออาคาร ทำให้มาตรฐานของสิ่งเหล่านี้ต่ำลง เพราะใช้วัสดุและวิธีการที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น บางครั้งก็ร้ายถึงขนาดสิ่งเหล่านี้พังทลายลง เป็นเหตุให้ชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวนมากเสียไป

ประการที่สาม การทุจริตและความร่ำรวยผิดปกติ เป็นการฉกฉวยทรัพย์สินทั้งของรัฐและของประชาชนไปเป็นของส่วนตัว ดังจะเห็นได้จากการได้สัมปทานผูกขาดสาธารณูปโภคด้วยวิธีทุจริต ย่อมทำให้ผู้ให้สินบนนำค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปในการทุจริต มาบวกรวมเป็นต้นทุนและผลักภาระให้ประชาชนผู้ใช้บริการต้องใช้บริการราคาแพง ยิ่งกว่านั้น การเอาเงินที่ควรได้แก่รัฐมาเป็นของตัว ยังเป็นการเบียดบังประชาชนเจ้าของภาษีโดยตรง เป็นความผิดทั้งทางศาสนาและกฎหมาย โดยทางศาสนานั้นถือเป็นการลักทรัพย์ ส่วนทางกฎหมายก็ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

ท่านที่เคารพครับ

การโกงราษฎร์ โกงหลวง และความร่ำรวยผิดปกติ แม้จะเกิดจากค่าน้ำร้อนน้ำชา ก็เป็นความผิด ความเลว ที่สังคมต้องช่วยกันป้องปราม

การป้องปรามนั้นต้องเริ่มที่ประชาชน ซึ่งจะต้องร่วมกันเปลี่ยนทัศนคติต่อการได้มาซึ่งเงินทองว่า ต้องได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง และโดยวิธีที่ถูกต้อง ต้องบูชาความสุจริต ความดีงามมากกว่าเงินตรา และที่สำคัญที่สุด ต้องตั้งข้อสงสัย และประนามความร่ำรวยที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า หาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงอย่างไร และร่วมมือกันกำจัดคนรวยผิดปกติเหล่านี้ให้หมด

สภาพบังคับทางสังคมเช่นนี้ จะทำให้คนโกงไม่กล้าโกง

นอกจากนั้น นักธุรกิจผู้ประกอบกิจการทั้งหลายก็ต้องมีจริยธรรมไม่หวังได้สัมปทาน หรือสิทธิต่าง ๆ โดยวิธีการให้สินบน หากผู้ใดประพฤติเข้าข่ายนี้ สังคมธุรกิจต้องร่วมกันประณาม ไม่คบค้าด้วย เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้แข่งขันอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์กติกา แต่เป็นพวกชอบชกใต้เข็มขัด บรรษัทภิบาล หรือที่เรียกว่า good corporate governance ต้องเกิดขึ้นเพื่อป้องกันนักฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจให้หมดไป

สื่อมวลชนเองก็ต้องทำหน้าที่ขุดคุ้ยความร่ำรวยผิดปกติของบุคคล ไม่พึงเอารายได้จากการโฆษณาและความสัมพันธ์ส่วนตัวที่เกื้อกูลกันมากับผู้มีอำนาจมาบิดเบือนการนำเสนอข่าว การช่วยปกปิดความร่ำรวยผิดปกติหรือความทุจริตของผู้มีเงินและอำนาจต้องถือเป็นการผิดจรรยาบรรณหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนอย่างร้ายแรง ถึงขั้นต้องถือว่าร่วมกันกับผู้นั้นกระทำความผิด

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ

ความร่ำรวยผิดปกติและความทุจริตจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มี “โอกาส”

โอกาสทุจริตนั้นเกิดจากปัจจัยสำคัญสองประการคือ การมีอำนาจใช้ดุลพินิจมากมายที่เรียกว่า discretion ซึ่งกฎหมายให้ไว้และการขาดความโปร่งใสในการใช้อำนาจ ตัวเราจะสังเกตพฤติกรรมทุจริตอันเป็นที่มาของความร่ำรวยผิดปกติของข้าราชการและนักการเมือง เราก็จะพบความจริงข้อนี้ได้ไม่ยาก เช่นในกรมศุลกากรซึ่งกฎหมายศุลกากรที่ล้าหลังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไว้มากมาย ผู้ออกของต้องเสียเงินเป็นรายโต๊ะ ก็เพราะ “ดุลพินิจ” ที่มีล้นฟ้า และความไม่โปร่งใสในการปฏิบัติงาน แม้การอนุมัติโครงการใหญ่ ๆ ของฝ่ายการเมืองก็มีลักษณะเดียวกัน ดังนั้น จะขจัดต้นตอของความร่ำรวยผิดปกติ เราก็ต้องจำกัดดุลยพินิจของคนให้มากที่สุด

เพื่อการจำกัดดุลยพินิจนี้ ต้องเปลี่ยนวิธีการเขียนกฎหมายให้กฎหมายไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจผู้ใช้กฎหมายให้มากที่สุด เช่น กฎหมายต้องกำหนดเลยว่า ถ้ามีสถานการณ์หนึ่งเกิดขึ้น กฎเกณฑ์ที่จะใช้กันคือกฎเกณฑ์ใด ไม่ต้องให้คนมานั่งเอาใจข้าราชการหรือนักการเมือง หากดุลยพินิจลดลง การทุจริตก็จะลดลง เพราะความแน่นอนเกิดจากกฎหมายเอง ไม่ใช่เกิดจากใจผู้ใช้กฎหมาย ต้นทุนทางธุรกิจก็จะลดลง เพราะความไม่แน่นอนหมดไป

นอกจากนั้น การใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยทำงานแทนมนุษย์ก็จะลดทุจริตได้ ดังเช่นที่มีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการอนุมัติของออกจากด่านศุลกากรฟิลิปปินส์ ทำให้การทุจริตของเจ้าหน้าที่ตามโต๊ะต่าง ๆ หมดไป เพราะเครื่องจักรทุจริตไม่เป็น

ท่านผู้มีเกียรติครับ

การพูดถึงความร่ำรวยผิดปกติเฉย ๆ โดยไม่พูดถึงสาเหตุและการหาทางขจัดสาเหตุ ก็เหมือนการบ่นเกี่ยวกับอาการป่วยไข้โดยไม่รักษาสมุฏฐานของโรค ดังนั้น ในวันนี้ ผมจึงขอเชิญชวนให้เราได้ใช้เวลาในการหาสาเหตุอันเป็นสมุฏฐานของโรคร่ำรวยผิดปกติ และหาวิธีรักษาให้สาเหตุนั้นหายไปได้

ผมเชื่อว่า ถ้าเราร่วมมือกันทั้งสังคม ไม่เฉพาะปล่อยให้องค์กรตรวจสอบอย่าง ปปช. หรือ คตง. ต้องทำหน้าที่ฝ่ายเดียวเท่านั้น เราจึงจะขจัดความร่ำรวยผิดปกติได้

ขอบคุณครับ