ภาพสะท้อนของคุณอานันท์ ปันยารชุน
ในฐานะประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
โดย ดร. เสนาะ อูนากูล
ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

     เมื่อครั้งที่ผมดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๑๘ และ พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๓๒ ผมตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องก่อตั้งสถาบันวิจัยเชิงนโยบายที่เป็นอิสระเพื่อดำเนินงานวิจัยที่สนับสนุนการกำหนดนโยบายของประเทศ หลักการสำคัญก็คือสถาบันนี้ต้องเป็นอิสระ สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพสูง สามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ที่จำเป็น เลือกสรรหัวข้อวิจัยที่เหมาะสมและทันเหตุการณ์ ทำการวิจัยอย่างมีคุณภาพ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับนโยบายได้อย่างถูกต้องแม่นยำ นอกจากนี้ สถาบันยังต้องวิวัฒน์ในฐานะศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และศูนย์กลางขององค์ความรู้ให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของสังคมและของสาธารณชนที่แสวงหาความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสำคัญ ๆ ด้วยความคาดหวังที่สูงเช่นนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงได้ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๗ และผมได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งประธานคนแรกของสภาสถาบัน

     ใน พ.ศ. ๒๕๓๔ เมื่อผมดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ผมได้รับเชิญให้เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารภาควิชาโทรคมนาคมของเอไอที ขณะเดินทางไปถึง ผมประสบภาวะขาดเลือดเลี้ยงสมองอย่างฉับพลัน จากการล้มหมอนนอนเสื่อลงในครั้งนั้น ผมจึงได้ขอร้องให้คุณอานันท์รับตำแหน่งประธานสภาสถาบันของทีดีอาร์ไอหลังจากที่ท่านเสร็จสิ้นภารกิจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง แม้ว่าคุณอานันท์จะมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่าง ๆ มากมาย ท่านก็ยังกรุณาตอบรับ ซึ่งผมเชื่อว่าเกิดจากความสงสารเพื่อนที่กำลังล้มป่วยอยู่เป็นเหตุผลหลัก

     สภาสถาบันของทีดีอาร์ไอได้มีมติเป็นเอกฉันท์ เลือกคุณอานันท์ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาสถาบัน ความคาดหวังใด ๆ ที่ใครจะมีต่อตำแหน่งนี้ คุณอานันท์ก็สามารถเติมเต็มได้ทั้งหมด และยังดำเนินงานประสบความสำเร็จเหนือความคาดหวังอีกด้วย คุณอานันท์ใช้ความรู้ความสามารถตลอดจนทักษะและประสบการณ์ในการบริหารงานยกระดับมาตรฐานของทีดีอาร์ไอจนได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทีดีอาร์ไอยังคงดำเนินงานวิจัยที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สื่อมวลชนยังคงขอความคิดเห็นและคำวิจารณ์จากนักวิจัยของทีดีอาร์ไอในปัญหาสำคัญ ๆ ที่ต้องการความกระจ่างอย่างสม่ำเสมอ และในด้านของความเป็นนานาชาติ ทีดีอาร์ไอได้พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันระดับโลกและภูมิภาคต่าง ๆ กว้างขวางมากขึ้น

     ในระยะเวลาที่คุณอานันท์ดำรงตำแหน่งประธานสภาสถาบันของทีดีอาร์ไอ ประเทศไทยเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม คุณอานันท์เล็งเห็นกระแสความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างถูกต้อง และนำพาทีดีอาร์ไอให้สามารถดำเนินงานวิจัยที่ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งนี้ทำให้ทีดีอาร์ไอไม่ล้าสมัยและยังสามารถเชื่อมโยงการดำรงอยู่ของสถาบันฯ ให้มีคุณค่าในสังคมไทยได้ (relevance) แม้ว่ากระบวนทัศน์ในการพัฒนาของสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาก็ตาม

     ผมเห็นว่าการที่ทีดีอาร์ไอ ยังสามารถดำรงตนได้อย่างทัดเทียมต่อกระแสของการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็เป็นเพราะคุณอานันท์เน้นการดำเนินงานแบบไม่ย่ำอยู่กับที่ (dynamism) และให้ความสำคัญกับการยึดมั่นในหลักคุณธรรมและความซื่อตรง (integrity) ของสถาบันฯ มาโดยตลอด

     หลังจากการเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจใน พ.ศ. ๒๕๔๐ รัฐบาลได้ขอให้ทีดีอาร์ไอทำการศึกษาและให้คำแนะนำด้านนโยบายเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ปัญหา ภาระหน้าที่นี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับแนวความคิดของคุณอานันท์ซึ่งไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐบาล คุณอานันท์ได้จัดตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญขึ้น ๔ กลุ่ม เพื่อให้คำแนะนำเชิงนโยบายทางด้านเศรษฐกิจมหภาค การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สวัสดิการสังคมและธรรมาภิบาล ตามลำดับ ในขณะนั้น "ธรรมาภิบาล" เป็นแนวความคิดใหม่ซึ่งยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างกว้างขวางในสังคมของเรา แต่เนื่องจากแก่นแท้ของแนวความคิดนี้คือรากฐานที่สำคัญสำหรับสังคมที่ยุติธรรม มีความเท่าเทียมกันและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจกับแนวความคิดนี้และนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม คุณอานันท์เป็นผู้ริเริ่มให้ธรรมาภิบาลเป็นหนึ่งในหัวข้องานวิจัยของสถาบันฯ และเป็นต้นคิดให้ธรรมาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญในวาระแห่งชาติหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางรากฐานสำหรับกลไกของธรรมาภิบาลไว้อย่างจงใจ และคุณอานันท์นี่เองคือผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

     การปรับตัวเคลื่อนไหวให้ทันต่อเหตุการณ์และธรรมชาติการไม่ย่ำอยู่กับที่ซึ่งคุณอานันท์ปลูกฝังแก่สถาบันฯ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงหัวข้อของงานวิจัย ในฐานะสถาบันแห่งการเรียนรู้และองค์ความรู้ ทีดีอาร์ไอมีภาระหน้าที่ในการให้ความรู้แก่สาธารณชนในประเด็นปัญหาที่สังคมเผชิญอยู่ สถาบันฯ พยายามนำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในประเด็นการพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ ช่องทางหลักในการเผยแพร่งานวิจัยและองค์ความรู้ของสถาบันฯ ก็คือสิ่งตีพิมพ์และงานสัมมนาต่าง ๆ โดยเฉพาะการสัมมนาวิชาการประจำปี ซึ่งเป็นเวทีให้ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ได้มาร่วมอภิปรายให้ความคิดเห็นและประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเพื่อให้บังเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงบทบาทที่แต่ละฝ่ายพึงดำเนินการได้อย่างสอดคล้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดและเพื่อจุดหมายเดียวกัน ในช่วงปีแรก ๆ ผู้เข้าร่วมการสัมมนาส่วนใหญ่ คือ เจ้าหน้าที่จากภาครัฐและนักวิชาการ คุณอานันท์ได้วางแนวนโยบายให้สถาบันฯ ขยายเครือข่ายของผู้เข้าร่วมการสัมมนาให้ครอบคลุมถึงตัวแทนจากองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ด้วย ในช่วงปีหลัง ๆ ผู้นำชุมชนต่าง ๆ และกลุ่มชาวบ้านก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสัมมนาวิชาการประจำปี

     นับตั้งแต่คุณอานันท์เข้ารับตำแหน่งประธานสภาสถาบัน ผมสังเกตว่าคุณอานันท์ระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกันระหว่างการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งและความต่อเนื่องของประเด็นการวิจัย ยกตัวอย่างเช่น หัวข้อการสัมมนาวิชาการประจำปีในแต่ละปีของสถาบันฯ จะจับประเด็นปัญหาที่ทันเหตุการณ์ซึ่งมีผลกระทบตั้งแต่ระยะกลางถึงระยะยาวในช่วงเวลานั้นๆ ในช่วงสามปีที่ผ่านมา หัวข้อของการสัมมนาวิชาการประจำปีครอบคลุมเรื่อง "จากวิกฤติสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" (พ.ศ. ๒๕๔๑) "เศรษฐกิจพอเพียง" (พ.ศ. ๒๕๔๒) และ "สังคมโปร่งใสไร้ทุจริต" (พ.ศ. ๒๕๔๓) สำหรับหัวข้อของการประชุมใน พ.ศ. ๒๕๔๔ คือ "ยุทธศาสตร์การขจัดปัญหาความยากจน"

     อย่างไรก็ดี สถาบันฯ จะไม่สามารถดำรงการเป็นที่ยอมรับและสนองความต้องการของสังคมได้เลย ไม่ว่าจะมีความเชี่ยวชาญ ความสามารถปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ตลอดเวลา หรือความต่อเนื่องในด้านงานวิจัยเพียงใดก็ตาม หากสถาบันฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการยึดมั่นในหลักคุณธรรมและความซื่อตรง (integrity) ผมเคยได้ยินคุณอานันท์ย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ทีดีอาร์ไอจะไม่มีวันยอดลดมาตรฐานคุณธรรมและความซื่อตรงของสถาบันฯ เป็นอันขาด ในฐานะสถาบันวิจัยเชิงนโยบายที่เป็นอิสระ ทีดีอาร์ไอจำเป็นจะต้องนำเสนอความคิดเห็นที่ถูกต้องแม่นยำบนพื้นฐานขององค์ความรู้ของเราโดยไม่ขึ้นกับปัจจัยหรือผลประโยชน์อื่น ๆ แม้จะมั่นใจว่าการยึดมั่นในหลักคุณธรรมเป็นสัญชาตญาณโดยธรรมชาติของนักวิจัยของทีดีอาร์ไอทุกคน แต่การมีผู้นำสูงสุดในองค์กรที่ตอกย้ำถึงหลักการนี้อย่างชัดเจนอยู่เสมอก็เป็นทั้งกำลังใจและแรงสนับสนุนที่เข้มแข็งสำหรับบุคลากรของสถาบันฯ

     ในช่วงระยะเวลา ๙ ปี ภายใต้การนำของคุณอานันท์ ทีดีอาร์ไอได้พัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างงดงาม การบริหารงานของคุณอานันท์และเกียรติประวัติที่โดดเด่นอย่างยิ่งของคุณอานันท์ทำให้ทีดีอาร์ไออยู่ในฐานะสถาบันอันทรงเกียรติซึ่งเราทุกคนที่นี่ล้วนภาคภูมิใจ

     เมื่อมองย้อนกลับถึงการก้าวย่างของทีดีอาร์ไอนับตั้งแต่วันที่คุณอานันท์เข้ารับตำแหน่งประธานสภาสถาบัน ผมภูมิใจที่จะกล่าวว่าเป็นโชคของทีดีอาร์ไออย่างแท้จริงที่คุณอานันท์ให้เกียรติดำรงตำแหน่งประธานสภาสถาบันติดต่อกันถึงสี่วาระ คุณอานันท์ ผู้ซึ่งเป็นผู้นำโดยธรรมชาติของสังคมไทยในหลาย ๆ ด้าน ได้รังสรรค์ให้ทีดีอาร์ไอก้าวขึ้นสู่สถานะผู้ชี้นำทางปัญญาอันโดดเด่นของสังคมไทย ในฐานะที่ผมเป็นเพื่อนเก่าของทั้งทีดีอาร์ไอและคุณอานันท์ ผมไม่รู้สึกแปลกใจเลยที่สังเกตพบว่าภาพลักษณ์ของทีดีอาร์ไอซึ่งได้รับการหล่อหลอมในช่วงระยะเวลาที่คุณอานันท์ดำรงตำแหน่งประธานสภาสถาบันได้สะท้อนถึงบุคลิกลักษณะที่ฉลาดหลักแหลมเฉกเช่นตัวคุณอานันท์เอง นั่นคือคุณภาพความเป็นผู้นำ การพัฒนาอยู่เสมอไม่หยุดนิ่ง ความทันต่อเหตุการณ์และไม่ล้าสมัย การยึดมั่นในหลักคุณธรรมความซื่อตรง และความทรงเกียรติ

     มาตรฐานอันสูงยิ่งที่คุณอานันท์สร้างไว้ให้กับทีดีอาร์ไอนี้เป็นความท้าทายสำหรับเราทุกคนในสถาบันฯ ที่จะต้องดำรงรักษาไว้ และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ในฐานะผู้ก่อตั้งทีดีอาร์ไอและประธานคนแรกของสภาสถาบัน ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณคุณอานันท์ที่ได้ให้เกียรติรับตำแหน่งประธานสภาสถาบันและได้นำพาทีดีอาร์ไอไปสู่ความสำเร็จในระดับที่สูงขึ้นเช่นนี้ ในนามของทุก ๆ คนที่ทีดีอาร์ไอ ผมขอถือโอกาสนี้แสดงความรู้สึกภาคภูมิใจ และความรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่พวกเรามีผู้นำที่มีคุณลักษณะพิเศษเฉกเช่น ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน

 ดร. เสนาะ อูนากูล
ผู้ก่อตั้ง และประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔

ท่านสามารถรับทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ โดยเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ ที่ www.info.tdri.or.th