นายอานันท์กับสถาบันคีนันแห่งเอเชีย

"ภาคเอกชนจะต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ทางด้านการพัฒนาครั้งใหม่กับสหรัฐอเมริกา"
นายอานันท์ ปันยารชุน กล่าวในพิธีเปิดการปาฐกถา Phillips Initiative Address ณ มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ณ แชเพิลฮิลล์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘

     นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ได้เข้ารับตำแหน่งประธานคนแรกของสถาบันคีนันแห่งเอเชียเมื่อปี ๒๕๓๗ ในการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคมปีเดียวกันนั้น นายอานันท์ได้แสดงความเห็นพ้องกับงานของสถาบันฯ ในอันที่จะเน้นถึงความสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยและทวีปเอเชีย โดยอาศัยความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา เป้าหมายสำหรับความร่วมมือเช่นนี้ มุ่งหวังจะให้เป็นทางเลือกอันทรงคุณค่า ซึ่งต่างไปจากความสัมพันธ์แบบผู้บริจาค-ผู้รับเช่นที่เคยเป็นมา โดยรูปแบบใหม่นี้จะสนับสนุนการได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าในการพัฒนาระดับภูมิภาค

     สถาบันคีนันแห่งเอเชีย ได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการในฐานะมูลนิธิเอกชนอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยได้รับเงินสนับสนุนบริจาคจากกองทุนการกุศล วิลเลียม อาร์. คีนัน จูเนียร์ กรมวิเทศสหการ สำนักนายกรัฐมนตรี และ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (ยูเสด)

     ในฐานะประธานผู้ก่อตั้ง นายอานันท์ได้มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการวางรูปแบบสถาบัน และในการพัฒนาโครงการในทางปฏิบัติ ในอันที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างเอเชียและสหรัฐฯ โดยมีพื้นฐานอยู่บนความต้องการที่แท้จริงในการพัฒนา และการได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน โครงการต่าง ๆ โดยทั่วไปจะเป็นการพัฒนาความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคราชการ และภาคเอกชน

     ในช่วงปีแรก ๆ ของสถาบันฯ นายอานันท์ ในฐานะซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ได้เปิดแนวทางไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างบริษัท หน่วยงานราชการ และองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ความร่วมมือดังกล่าวได้มุ่งความสำคัญไปที่ด้านสิ่งแวดล้อมและการสาธารณสุข ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างสหรัฐ-ไทย (ยูเอสทีดีพี) สถาบันฯ ได้มีบทบาทสำคัญในการชี้ไห้เห็นถึงปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงที่เศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในภาวะรุ่งเรือง เมื่อประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ สถาบันฯ ได้เตรียมพร้อมที่จะหาหนทางช่วยเหลือประเทศไทยโดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนก่อนเป็นอันดับแรก ในต้นปี ๒๕๔๑ โครงการธุรกิจอเมริกันเพื่อประเทศไทย (เอซีที) ได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีนายอานันท์ และ ดร. เฮนรี คิสซิงเจอร์ ดำรงตำแหน่งประธานร่วม ซึ่งได้รับเงินบริจาคเป็นยอดรวมมากกว่า ๑.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากบริษัทหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะสนับสนุนสถาบันการฝึกอบรม ตลอดจนโครงการฝึกอบรมใหม่สำหรับผู้ว่างงาน

     ในปี ๒๕๔๓ สถาบันฯ ได้ดำเนินภารกิจการพัฒนาในระดับใหญ่ขึ้นโดยอาศัยกองทุนสนับสนุนจากยูเสด ในโครงการระดับภูมิภาคอันมีชื่อว่า โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจเอเชียอย่างเร่งรัด (แอร์รา) ซึ่งในประเทศไทย โครงการดังกล่าวควบคุมการดำเนินการโดยคณะกรรมการดำเนินการซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย และมีนายอานันท์ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ โครงการฟื้นฟูฯ นี้ได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การปฏิรูป ตลอดจนการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยผ่านทางโครงการสำคัญหลายโครงการด้วยกัน โครงการต่าง ๆ นั้น ได้รวมไปถึงบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โครงการฝึกอบรมสำหรับภาคธนาคาร การให้ความช่วยเหลือสำหรับองค์กรของไทยเพื่อรองรับธรรมาภิบาล การพัฒนามาตรฐานแรงงาน ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันฯ ได้จัดตั้งสำนักงานในกรุงฮานอยขึ้น และเริ่มต้นโครงการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจในเวียดนาม

     ปัจจุบัน สถาบันคีนันแห่งเอเชีย ภายใต้การนำของนายอานันท์ ปันยารชุน ยังคงขยายกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในอันที่จะช่วยเหลือประเทศไทยและทวีปเอเชียสืบต่อไป

     ท่านสามารถรับทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาบันคีนันแห่งเอเชียได้ โดยเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของสถาบันฯ ที่ www.kiasia.org

ภาพ:

ภาพที่ ๑: นายอานันท์และคณะกรรมการสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ถ่ายภาพร่วมกันในการประชุมประจำปีของสถาบัน

ภาพที่ ๒: ผู้บริจาคในโครงการธุรกิจอเมริกันเพื่อประเทศไทย บรรยายสรุปผลการดำเนินงานในปีที่สองของโครงการ แก่นายอานันท์ ปันยารชุน และ ดร. เฮนรี คิสซิงเจอร์ ประธานร่วมของโครงการ

ภาพที่ ๓: นายอานันท์ ถ่ายภาพร่วมกับศิษย์เก่าของโรงเรียนธุรกิจคีนัน-ฟลอกเกอร์ แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ณ แชเพิลฮิลล์ ในงานต้อนรับศิษย์เก่าของโรงเรียน ซึ่งจัดโดยสถาบันคีนันแห่งเอเซีย

ประวัติสถาบันโดยสังเขป:
ตุลาคม ๒๕๓๖

พิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างนายอำนวย วีรวรรณ รองนายกรัฐมนตรีของไทย กับนายอัล กอร์ รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในโครงการความร่วมมือระหว่างสหรัฐ-ไทยเป็นระยะเวลาสามปี

๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ดร. ชินวุฒิ สุนทรสิมะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เริ่มต้นโครงการความร่วมมือดังกล่าวอย่างเป็นทางการ
ปี ๒๕๓๗พีธีสถาปนาสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ความร่วมมือแรกที่สถาบันได้รับคือ เงินทุนสนับสนุนจากโครงการความร่วมมือระหว่างสหรัฐ-ไทย (ยูเอสทีดี)
๖ ธันวาคม ๒๕๓๗สถาบันฯ จัดแถลงข่าวประกาศการเข้ารับตำแหน่งประธานสถาบันฯ ของนายอานันท์ ปันยารชุน
ปี ๒๕๓๙สถาบันคีนันแห่งเอเซียได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิซึ่งไม่แสวงหากำไร อันมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา และได้จัดการประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก
ปี ๒๕๔๑โครงการธุรกิจอเมริกันเพื่อประเทศไทย (เอซีที) ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน และดร. เฮนรี คิสซิงเจอร์ ดำรงตำแหน่งประธานร่วม
ปี ๒๕๔๒

สถาบันฯ รับเป็นผู้จัดการโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจเอเชียอย่างเร่งรัด (แอร์รา) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในส่วนของประเทศไทย และนายอานันท์ ปันยารชุนได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการฯ

ปี ๒๕๔๓สถาบันฯ เริ่มดำเนินการตามโครงการแอร์ราในปีแรก และได้รับมอบหมายจากยูเสดเพื่อดำเนินการโครงการอย่างต่อเนื่องไปจนกระทั่งปี ๒๕๔๕